นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยถึง กรณีที่ผู้บริโภคร้องเรียนค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ย่านความถี่ 2.1 GHz (อัตราค่าบริการ 3G ใหม่) ที่ให้ปรับลดลง 15% ตามเงื่อนไขใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม หมวด 3 เงื่อนไขเฉพาะสำหรับผู้รับใบอนุญาต ภาคผนวก ก ข้อ 7.5 ที่กำหนดให้ “ผู้รับใบอนุญาตจะต้องกำหนดอัตราค่าบริการให้เป็นธรรม สมเหตุสมผลและไม่เอาเปรียบผู้บริโภค โดยในการเปิดให้บริการผู้รับใบอนุญาตจะต้องกำหนดอัตราค่าบริการที่ลดลงโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการประเภทเสียง (voice) และบริการที่ไม่ใช่ประเภทเสียง (non-voice) ที่มีการให้บริการอยู่ในตลาด ณ วันที่ได้รับใบอนุญาต (วันที่ 7 ธันวาคม 2555) ซึ่งสำนักงาน กสทช.ได้มีการตรวจสอบไปยังผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามข้อร้องเรียนจากผู้บริโภค พบว่า ปัจจุบัน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) มีเลขหมายในระบบ 40 ล้านเลขหมาย ขณะนี้มีเลขหมายที่ย้ายไปบริษัท ในเครือ คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ที่ได้รับใบอนุญาตให้บริการบนโครงข่าย ย่าน 2.1 GHz (3G ใหม่) เพียง 2 ล้านเลขหมายเท่านั้น ส่วนบริษัทลูกของ ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับใบอนุญาตให้บริการบนโครงข่ายย่าน 2.1 GHz (3G ใหม่) คือ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด (RF) มีจำนวนเลขหมายที่ย้ายมาใช้บริการเพียง 1,000 กว่าเลขหมายเท่านั้น จากทั้งหมด 18 ล้านเลขหมายที่เป็นผู้ใช้บริการของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท เรียลมูฟ จำกัด ส่วนบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN)ที่ได้รับใบอนุญาตให้บริการบนโครงข่ายย่าน 2.1 GHz (3G ใหม่) ในเครือบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) แจ้งว่าจะให้บริการเชิงพาณิชย์ช่วงเดือนกรกฎาคม 2556
ที่มา http://www.nbtc.go.th
© 2015 All rights reserved. สาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม